ซิฟิลิส รักษาได้หากตรวจเจอเร็ว

beefhunt หาคู่

ซิฟิลิส (Syphilis) คืออะไร?  

ซิฟิลิส (Syphilis) เป็นโรคติดเชื้อจากแบคทีเรีย โดยปกติจะติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ผู้ป่วยที่ติดเชื้อซิฟิลิส หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เกิดปัญหารุนแรงตามมาภายหลังได้ การดำเนินโรคในขั้นต้นโดยทั่วไปจะเริ่มจากบาดแผล ซึ่งมักพบบริเวณอวัยวะเพศ ปาก หรือทวารหนัก ลักษณะของแผลจะเป็นแผลที่ไม่รู้สึกเจ็บ (Painless sore) หรือเรียกว่าแผลริมแข็ง

อาการของซิฟิลิส

หลังจากเราได้รับเชื้อซิฟิลิสแล้ว เชื้อจะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 2-4 สัปดาห์ และอาจนานจนถึง 3 เดือน ก่อนที่เราจะเริ่มมีอาการแสดงของการติดเชื้อซิฟิลิส อาการของโรคซิฟิลิส จะแบ่งออกเป็น 4 ระยะดังนี้

  • ระยะที่ 1 หลังจากได้รับเชื้อไปประมาณ 3 สัปดาห์ ในผู้ชายจะเริ่มมีแผลริมแข็ง (Chancre) บริเวณปลาย หรือลำอวัยวะเพศ ไม่เจ็บ ในผู้หญิง แผลอาจจะซ่อนอยู่ในช่องคลอด และในบางคนจะพบแผลบริเวณทวารหนักได้ ผู้ป่วยหลายรายไม่ทราบว่าเคยมีแผลลักษณะนี้มาก่อน เนื่องจากแผลจะสามารถหายได้เองในระยะเวลาไม่นาน แต่เชื้อซิฟิลิส จะเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองและก่อเกิดโรคซิฟิลิส ในระยะต่อไป
  • ระยะที่ 2 หลังจากแผลริมแข็งหายไปประมาณ 2-3 สัปดาห์ จะเกิดอาการของโรคซิฟิลิส ในระยะที่ 2 โดยเชื้อซิฟิลิสได้เข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองแล้วเข้าไปในกระแสเลือด ผู้ป่วยจึงมีอาการทางร่างกายอื่นๆ ได้แก่ ไข้ ปวดตามตัว ต่อมน้ำเหลืองโต เจ็บคอ มีผื่น ซึ่งมักจะพบบริเวณฝ่ามือ และฝ่าเท้า สามารถพบผื่นบริวเณแขนขาและลำตัวได้เช่นกัน โดยจะไม่มีอาการคันในบริเวณผื่น ผื่นอาจจะหายได้เองจะเกิดเป็นซ้ำอีก
  • ระยะแฝง ระยะนี้เป็นระยะที่ไม่มีอาการใดๆ ซึ่งกินระยะเวลานานได้เป็นปี โดยเกิดขึ้นหลังจากผู้ป่วยเป็นซิฟิลิส ระยะที่ 2 แล้วไม่ได้รับการรักษา โดยส่วนใหญ่จะตรวจพบขณะมาตรวจเลือด เช่น มารดาตรวจพบขณะฝากครรภ์ หรือการตรวจสุขภาพที่ระบุการตรวจเชื้อซิฟิลิส เป็นต้น
  • ระยะที่ 3 ระยะนี้เกิดการติดเชื้อเข้าสู่อวัยวะภายใน ผู้ป่วยอาจมีอาการ ตาบอด หูหนวก มีอาการพิการทางสมอง มีโรคหัวใจ เส้นเลือด ตับ กระดูก และข้อต่อต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากได้รับเชื้อนานหลายปีโดยไม่ได้รับการรักษา

การตรวจและวินิจฉัยโรคซิฟิลิส

แพทย์จะตรวจเพื่อยืนยันการติดเชื้อ โดยใช้วิธีเจาะเลือดหาแอนติบอดี (Antibody) เราสร้างขึ้นมา โดยแอนติบอดีต่อเชื้อซิฟิลิสนี้จะคงอยู่ในร่างกายเราได้เป็นเวลานานหลายปี ทำให้การตรวจด้วยวิธีนี้สามารถบ่งบอกการติดเชื้อในอดีตได้ ในซิฟิลิสระยะต้นและระยะที่สอง แพทย์อาจเก็บตัวอย่างเซลล์ (Cell) จากบริเวณบาดแผลหรือบริเวณผื่นเพื่อตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย

หากแพทย์สงสัยว่าคุณอาจมีการติดเชื้อเป็นโรคซิฟิลิสระยะที่สาม และมีอาการแทรกซ้อนทางระบบประสาทเกิดขึ้น อาจมีความจำเป็นที่จะต้องเจาะน้ำไขสันหลัง (Lumbar puncture) เพื่อนำน้ำไขสันหลัง (Cerebrospinal fluid) ไปตรวจหาความผิดปกติต่อไป

การป้องกันการติดเชื้อซิฟิลิส

  • ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
  • ไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
  • ตรวจสุขภาพทางเพศเป็นประจำ
  • ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์

การรักษาซิฟิลิส

โรคซิฟิลิส เป็นโรคที่สามารถรักษาได้หายขาด ในกรณีที่เข้ารับการรักษาในระยะต้นๆ โดยแพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะเพื่อกำจัดเชื้อซิฟิลิส และแพทย์จะแนะนำให้พาคู่นอนเข้ามารับการตรวจ และรักษาร่วมด้วย ดังนั้น หากท่านกังวลว่ามีความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อซิฟิลิส ท่านควรเข้ารับการตรวจ แม้ว่าจะไม่มีอาการใดๆ ก็ตาม การตรวจพบโรคซิฟิลิส ตั้งแต่ระยะต้นๆ ท่านจะได้รับการรักษาที่เหมาะสม และหยุดการลุกลามของโรคได้

อ่านบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ขอบคุณข้อมูล : h9airport, siphhospital

Search